ผีอำ ทำยังไง

Standard

คงเคยได้ยินคำว่า “ผีอำ” กันมาบ้างนะคะ วันนี้หมออาสาไขความกระจ่างของเรื่องผีอำค่ะ 

ผีอำ ตรงกับทางการแพทย์เรียกว่า sleep paralysis ( SP ) คือภาวะที่กล้ามเนื้อไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แม้ว่าคนๆนั้นเริ่มรู้สึกตัวว่าตัวเองไม่ได้หลับแล้ว(แต่จริงๆคือยังไม่ตื่น 100% ค่ะ)

ลักษณะที่คนเคยเป็นแบบนี้ ที่เล่ากันมาก็คือ พอหลับๆอยู่ก็รู้สึกตัวขึ้น แล้วก็ขยับตัวไม่ได้ ซึ่งเค้ามักจะตกใจมาก บางคนก็บอกว่าเห็นผีมานั่งทับหน้าอกด้วยขยับเขยื้อนไม่ได้ จากนั้นคนที่เป็นก็พยายามจะขยับตัวให้ได้ก็ขยับไม่ได้ ก็พยายามจะสวดมนต์ บางทีสวดมนต์สัก 3 รอบก็เริ่มขยับตัวได้

…. บทความนี้ หมอเขียนเรื่อง “ผีอำ” เรียกชื่อตามแบบที่คนทั่วๆไปพูดและเข้าใจว่าหมายถึงภาวะแบบนี้ แต่พูดในเรื่องการอธิบายทางการแพทย์ซึ่งใช้คำว่า sleep paralysis ดูจะถูกต้องกว่าในแง่การแพทย์ ไม่มีเจตนาทำนองลบหลู่ หรืออะไรทำนองนั้น นะคะ…..

มีเคสเคยเล่าให้หมอฟังว่า เค้าโดนผีอำบ่อยมาก จนค่อนข้างกลัวเวลาจะต้องนอนหลับ ยิ่งไปต่างจังหวัดแปลกที่ยิ่งเป็น หรือเงาดำๆบ้าง ไม่เห็นบ้าง ก็แขวนพระ และสวดมนต์ทุกคืน แต่ก็ผีอำบางคืน หมอก็เคยเล่าแบบการแพทย์ให้ฟัง พร้อมแนะนำแบบการแพทย์โดยที่คุณเค้าก็แขวนพระ สวดมนต์แบบที่เคยทำประจำได้

ก่อนจะเข้าใจภาวะนี้ก็จำเป็นต้องเข้าใจ ระยะต่างๆของ “การหลับ” ก่อนค่ะ

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์เรา และนก มีระยะ การนอนเป็น 2 ระยะกว้างๆคือ

1.non-REM sleep (NREM) = non-rapid eye movement

2.REM sleep =rapid eye movement

หมอเคยพูดถึง 2 ระยะ ของการนอนนี้ใน post เก่าๆของหมอแล้ว วันนี้ขอสรุปเล็กน้อยให้พอที่จะเข้าใจค่ะ (เนื้อหาได้มาจาก website ของไทยและต่างประเทศ โดยเน้นทางการแพทย์ค่ะ)

วงจรการนอนหลับเริ่มโดย…

Non rapid eye movement sleep (NREM Sleep เรียกว่า นอนเร็มสลีพ) ระยะการนอนชนิดนี้ค่อนข้างมีความราบเรียบสม่ำเสมอ แบ่งระยะความลึกเป็น สี่ระดับความลึก(บางตำราก็แบ่งเป็น 3 ระยะ) คือ

ระยะที่ 1 
ระยะที่ 2
ระยะที่ 3, 4 ระยะนี้เรียกว่า ระยะหลับลึก 
ในระยะนี้ร่างกายจะอยู่ในความเงียบสงบ
ความตึงตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะลดลงๆ
การตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายในจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามระยะความลึกของการหลับ

Rapid Eye Movement Sleep (REM Sleep เรียกว่า เร็มสลีพ)

ระยะของการนอนชนิดนี้ กินระยะเวลาประมาณ 20-25 % ของเวลาการนอนทั้งหมด ในช่วงระยะนี้จะมีลักษณะคือ

มีการทำงานของสมองแบบสูงมาก และกระจายไปทั่วทั้งสมอง (Generalized Heightened Brain Activity) มีการกรอกของลูกตาโดยกล้ามเนื้อตาอย่างแรงเป็นระยะๆ (Periodic Intense Eye Movement)
…. “ความฝันจะเกิดในระยะนี้” …. 
กำลังและการตึงตัวของกล้ามเนื้อลายทั่วทั้งตัวจะลดลงอย่างมาก คล้ายภาวะที่เรียกว่าการเป็น Paralysis ก้านสมองตำแหน่งที่เรียกว่า Pons ก่อให้เกิดการ ลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อลายในระยะการนอนชนิดนี้

วัฏจักรของระยะของการหลับ

ในขณะที่เรานอนนั้น เมื่อเราเริ่มหลับ เราจะเข้าสู่ระยะ NREM ระยะที่ 1 และเลื่อนไหลไปสู่ระยะที่ 2, 3, 4 ตามลำดับ แล้วจึงถอยกลับมาเข้าสู่ระยะ NREM ระยะที่ 4, 3, 2, 1 จากนั้นจึงเข้าสู่ ระยะ REM แล้วจึงเริ่มกลับมาเข้าสู่ระยะ NREM ระยะที่ 1, 2, 3, 4 ใหม่ เป็นการเริ่มรอบใหม่ของวงกลมของการนอนหลับ จากจุดเริ่มต้นของ REM ไปสู่จุดเริ่มต้นของ REM รอบใหม่ เราเรียกว่า หนึ่งรอบการนอน (1 Sleep Cycle) ใน 1 รอบ นั้นกินเวลาประมาณ 90 นาที คือ เป็น NREM ประมาณ 80 นาที และ REM ประมาณ 10 นาที ในหนึ่งคืนของการนอน จะมีจำนวนรอบการนอนประมาณ 3-6 รอบ

… ผีอำที่ว่านี่จะเกิดในระยะ “REM sleep” ค่ะ…

คือในช่วง REM sleep ซึ่งกล้ามเนื้อก็ถูกปิดสวิทช์โดยธรรมชาติไม่ให้มีการเคลื่อนไหว (เชื่อกันว่าเป็นกลไกของร่างกายที่ป้องกันไม่ให้ตัวเองได้รับอันตราย เช่นฝันว่ากำลังวิ่งหนี เราก็ไม่สามารถวิ่งหนีออกไปหน้าบ้านได้จริงแล้วโดนรถชนจริงๆ ส่วนเรื่องละเมอเป็นอีกเรื่องค่ะ แต่ก็มักเป็นการเดินช้ามากกว่าจะวิ่ง) ในตอนที่หลับช่วง REM sleep จะมีคลื่นสมองที่ทำงานมากในขณะที่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวขยับไม่ได้ ถ้าเราหลับ แล้วตื่นสมบูรณ์แบบตื่นตอนเช้า เราก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้ปกติอยู่แล้ว แต่บางคน บางครั้ง (โดยเฉพาะเวลาฝันร้าย) บางครั้งรู้สึกว่าตื่นมากขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถขยับตัวได้ เป็นความรู้สึกคล้ายมีอะไรมาทับหรือกดการเคลื่อนไหว (จนบางคนก็เล่าว่ามีผีมานั่งทับหน้าอก ขับแขนไม่ให้เคลื่อนไหว เพราะส่วนนึงก็เกิดร่วมกับการฝันร้ายด้วย)

การเกิดผีอำ จะใช้เวลาช่วงนึงไม่นานนักก็หลักหลายนาที แต่บางคนก็รู้สึกกลัวและทรมาณกับอาการนี้ เพราะมีเรื่องของความฝันและการได้ยินเรื่องเล่าทำนองนี้มาก่อนก็เลยยิ่งกลัวมากขึ้น

พบว่า การเกิด ผีอำที่ว่านี้ ไม่อันตราย และไม่จำเป็นต้องรักษาค่ะ การเป็นก็เป็นไม่นานมากนักค่ะ ส่วนในแง่การป้องกันไม่ให้เกิด ภาวะนี้ก็พบว่า คนที่มีภาวะ ผีอำมักมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้อีก ส่วนบางคนไม่เคยเป็นแบบนี้เลยก็มี

การป้องกัน ที่มีการแนะนำกันคือ
1. พยายามหลับให้ได้ลึก และฝันน้อยๆ เค้าพบว่าคนที่นั่งสมาธิ จะมีความสงบและหลับได้ดีและนิ่งขึ้น โอกาสเกิด ผีอำจะน้อยกว่า

2. ท่าทางการนอน พบว่า การนอนตะแคง เกิด ภาวะผีอำได้น้อยกว่า เพราะกล้ามเนื้อในท่านอนตะแคงจะฟื้นมาขยับตัวได้เร็วกว่าภาวะนอนหงาย(บางตำราว่า อย่างนั้น) และส่วนใหญ่คนที่ว่าโดน ผีอำก็มักเป็นท่านอนหงาย

โดยสรุป หมอจะพูดแบบการแพทย์ ว่า ผีอำเป็นภาวะกล้ามเนื้อไม่ขยับในช่วงที่หลับซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่บังเอิญเคสที่เป็นเกิดรู้สึกตัวมากขึ้น คล้ายจะตื่น แต่ยังไม่ตื่นสมบูรณ์ ในขณะที่ระบบกล้ามเนื้อยังไม่ตื่นพร้อมกัน ก็เลยขยับไม่ได้ชั่วขณะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Dr.B

Leave a comment